รุกตลาดแบบชาเขียว ฤาเที่ยวไทยถึงทางตัน
18 มีนาคมนี้…การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จะมีอายุครบ 55 ปี คนเก่าคนแก่ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับหน่วยงานนี้สะท้อนวันวานสั้นๆให้ฟังว่า…ช่วงกว่า 5 ทศวรรษถือว่าเป็น “ขาขึ้น”
โดยเฉพาะ ปี 2525 กับ ปี 2535 เป็น “ปีท่องเที่ยวไทย” มีสถิตินักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวไทยพุ่งกระฉูด อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ท่องเที่ยวไทย!
ทำเอาเพื่อนบ้านหลายประเทศ นำไปขาย…ทำตลาดเลียนแบบกันอย่างหน้าตาเฉย
จากนั้นไม่นานเราก็เริ่มปรับเปลี่ยนตลาด มาใช้แคมเปญ…“Amazing Thailand” ซึ่งถือว่าแรงมากอีกครั้งหนึ่ง ครั้นพอหันมาใช้…“Unseen Thailand” กลับแผ่วไปจนต้องหวนกลับมาใช้…“Amazing Thailand” อีกครา ตลาดต่างประเทศถึงจะฟื้น
แต่…นี่คือสัจธรรมที่การเมืองไทยเริ่มทิ่มหัวดิ่งเหว จากบรรดานักการเมืองอาชีพ?
สะท้อนความจริงที่จะทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก ททท.เป็นหน่วยงานหนึ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องตกอยู่ในวังวนน้ำเน่าอย่างที่รู้ๆกัน เพราะเกิดปรากฏการณ์การก้าวกระโดดไม่มีระบบอาวุโสและความสามารถเฉพาะตัว
กระทั่งเมื่อปี 2558 ททท.เกิดวิกฤติหาลูกหม้อขึ้นเป็นผู้ว่าการคนที่ 9 ไม่ได้
หวยงวดนี้…จึงไปตกอยู่ที่ ยุทธศักดิ์ สุภสร อดีต ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ทำเอาคนในวงการท่องเที่ยวเอียงคอมองตากันปริบๆ แม้ว่าจะยังไม่รู้ฝีมือ แต่ก็พอจะรู้ว่าไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวโดยตรงมาก่อน
ด้วยแรงผลักจากขั้วการเมือง…คาดเดาได้ไม่ยากว่า ใครเป็นกำลังสำคัญ เพราะคนคนนี้เบื้องหลังเบื้องหน้าไม่ใช่ธรรมดา เป็นหัวหอกเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ และเคยผลักดันยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก”…มาแล้ว
สำเร็จหรือไม่ คนละเรื่องกับ “คนเก่ง”…“คนดี” คนเก่าคนแก่ ททท.สะท้อนแนวคิด ออกตัวว่าไม่ได้อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ เพียงแต่อดเป็นห่วงอนาคตการท่องเที่ยวไทยไม่ได้
ทันที…ที่เข้ามาเป็นผู้บริหารเมื่อ 1 ตุลาคม 2558 หัวหอกการท่องเที่ยวไทยระเบิดความคิดต้องนำนักท่องเที่ยวเข้าไทย 30 ล้านคน โดยไม่มีใครรู้ว่า…จะใช้ฐานข้อมูลการเพิ่มจำนวนจากตรงไหน?
ในขณะที่แผนตลาดประจำปี 2559 ที่ ททท.จัดทำกันไว้ก่อนหน้ามีว่า…ปีดังกล่าวจะไม่เน้นเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว แต่จะเพิ่มรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท แต่แผนดังกล่าวก็ต้องถูกพับเก็บใส่ไว้ในลิ้นชัก
หลายคนพยายามมองบวก แต่…บัดนี้ผลพวงได้ตอบกลับมาแล้ว
เมื่อนักท่องเที่ยวจีนแห่เที่ยวไทยทะลัก 8 ล้านคน…เป้าหมายอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เที่ยวแบบขับรถเข้ามาเองโดยไม่มีการประกันภัย จอดรถนอนในวัด…โรงพัก กินอาหารที่จัดมา ผนวกกับใช้บริการทุกอย่างผ่านธุรกิจใต้เงาคนจีนแบบไม่ให้เงินหยวนตกหล่น
จากนั้น…เมื่อก่อนสิ้นปี 2558 ผู้ว่าการ ททท. “ควิกวิน” ก็เตรียมทำโครงการชื่อ “ประชารัฐ Smile Shop” ขึ้นภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ทั่วประเทศ 148 แห่ง
โดยของบประมาณสนับสนุนจากรัฐ 148 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายสำนักงาน ททท. 35 แห่ง แห่งละ 1 ล้านบาท ไปจัดสร้างซุ้มบริการบนพื้นที่ 15 ตารางเมตรในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด แล้วคัดสรรผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน โอทอปมาจำหน่าย พร้อมทำตลาดสู่นักท่องเที่ยว สุดท้าย …ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ สสว.เข้าไปบริหารจัดการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว นัยว่าจะดีเดย์เปิดตัวบางพื้นที่นำร่อง 1 เมษายนนี้
ความคิดแบบ “ควิกวิน”…ยังล้ำหน้าต่อไปอีก เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ได้นำ ผอ.ททท.ในประเทศ 35 แห่งเดินทางไปดูงานสถานีบริการริมทางหลวงที่เมืองคานาซาวา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำกลับมาใช้ดำเนินโครงการสถานีบริการริมทางหลวง (Road Side Station) ในแต่ละพื้นที่ต่อไป…ซึ่งก็ดูดีอีกนั่นแหละ
แล้ว…ความคิดแบบ “ควิกวิน” หรือ “คิดเร็ว ทำเร็ว” ปานรถด่วนหัวจรวดญี่ปุ่นต่อมา ก็คือเตรียมทำ “โครงการเที่ยวช่วยไทย”…กระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย โดยของบฯรัฐอีก 780 ล้านบาท
สร้างแรงจูงใจคนไทยเที่ยวเพื่อชาติ เที่ยวแล้วเอาหลักฐานไปชิงรางวัลบ้านและรถ ตามรายไตรมาส โดยระยะแรกที่รัฐยังไม่จัดสรรงบฯให้ ก็จะใช้งบฯ ททท. 100 ล้านบาท มานำร่องแจกไปพลางๆก่อน…
ก็ดูเหมือนว่าจะดีอีกนั่นแหละ แต่ครานี้หลายฝ่ายเริ่มตั้ง “ปุจฉา”
“การขายเที่ยวไทยที่มีสินค้าด้านการท่องเที่ยวอยู่มากมายและหลากหลายนั้นกำลังจะถึง…ทางตันแล้วฤา จึงต้องหันมาขายแบบชาเขียวชื่อญี่ปุ่น ขณะสิงคโปร์ซึ่งไม่มีแหล่งท่องเที่ยวเยี่ยงไทยและเป็นนักการตลาดตัวยง ก็ไม่เคยหลังพิงฝางัดขายแบบนี้”
หรือแม้กระทั่ง…เพื่อนบ้านคู่แข่งอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ยังไม่ตาบอดตามัวถึงขั้นนี้ และลาว กัมพูชา เมียนมา ก็ยังไม่จนตรอกถึงขั้นนั้น?
ในฐานะคนเก่าคนแก่ ททท.คนหนึ่ง แม้ว่าวันนี้จะเกษียณแล้วก็อยากส่งเสียงไปให้ผู้ว่าการ ททท. “ควิกวิน” ฟังเสียงรอบด้าน ข้างตัวกันบ้าง โดยเฉพาะภาคเอกชน…เขากำลังเกิดแง่คิดกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
ม.ล.สุรวุฒิ ทองแถม นักการตลาดมืออาชีพด้านธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก เปิดมุมมองด้วยความเป็นห่วงว่า รัฐควรตระหนักว่าปัจจุบันการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งจากภาคราชการและธุรกิจบริการนั้นก็มีอย่างล้นเหลืออยู่แล้ว เช่น การกระตุ้นให้ท่องเที่ยวนำหลักฐานเข้าพักแรมไปลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลปีละ 15,000 บาท…กับจะเพิ่มเป็น 30,000 บาทในอนาคต หรือภาคธุรกิจโรงแรมเองก็ร่วมส่งเสริมการขายแบบสร้างแรงจูงใจด้วยการขายห้องพัก 3 คืนแต่คิดค่าบริการแค่ 2 คืน
“ภาคการลงทุนก็กำลังจะลดภาษีค่าบูรณะซ่อมแซมห้องพักโรงแรม ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้เป็น 1 เท่าคือ…งบฯลงทุน 1 ล้านบาทก็จะเพิ่มเป็น 2 ล้านบาทในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันภาคการขนส่งก็มีส่วนกระตุ้นได้ดีอยู่แล้ว นั่นคือการแข่งขันกันในธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ…รถไฟ รถทัวร์คุณภาพ หรือเรือนำเที่ยว ซึ่งน่าจะเติมการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับกันไป ยังจะดีกว่าซื้อบริการนำเที่ยวเพื่อแลกกับบ้าน…รถ ด้วยไทยยังไม่ขัดสนแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ”
ม.ล.สุรวุฒิ บอกอีกว่า การลดแลกแจกแถมในตลาดการค้าทั่วไปนั้น เขาทำเพื่อล้างสต๊อกสินค้าเก่าๆ ถึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบเข้มข้นเพื่อสู้กันบนเวทีแข่งขัน แต่ท่องเที่ยวตลาดในประเทศเราไม่ได้ขายแข่งขันกับใครนอกจากตัวเอง และสร้างความยั่งยืนแก่ตัวสินค้า ส่วนโครงการประชารัฐเพื่อส่งเสริมสินค้าชุมชน ททท.ควรทบทวนบทบาทตนเองจากการลงทุนทำร้านค้าปลอดภาษีที่ล้มเหลว ซึ่งขาดงบประมาณในการอัดฉีดบริษัททัวร์และไกด์ จึงไม่มีใครคิดอยากจะนำนักท่องเที่ยวไปจับจ่าย
“ตัวอย่างมีให้เห็นร้านขายสินค้านักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นหัวหิน ชะอำ เพชรบุรี กาญจนบุรี ยี่ห้อแม่ๆทั้งหลาย พวกนี้เขามีค่าจอดให้คนรถและเงินทอนให้ไกด์ไปถึงบริษัททัวร์…แล้วยังมีอาหาร น้ำให้กินอีกต่างหาก ททท.ต้องคิดถึงสิ่งนี้ด้วย ถ้าจะส่งเสริมชุมชนควรหันไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อันได้แก่…ถนนที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปถึง ตลาดส่งเสริมสินค้า…คุณภาพสินค้า…บรรจุภัณฑ์ ซึ่งดูจะเป็นจริงมากกว่าเรื่องปลายน้ำ”
สุ้มเสียงอันห่วงใยข้างต้น…อาจดูไม่ดังแต่ฟังชัดถึงประเด็นซึ่งเป็นจริง ที่ ททท.ควรรับฟังในการก้าวเดินขึ้นสู่ปีที่ 56 ขององค์กร โดยไม่เกิดสะดุดหยุดล้มก่อนวัยอันควร.
ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 18 มี.ค. 2559 05:01
https://www.thairath.co.th/content/592141