“แอร์ไลน์-โรงแรม” สุดแฮปปี้ “ท่องเที่ยว” หนุนธุรกิจโตถ้วนหน้า
จากรายงานของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศพบว่า อุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ที่ผ่านมา ยังคงมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7%
ขณะที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.9% และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ และทำให้ต้นทุนในการเดินทางลดต่ำลง แถมยังเดินหน้าเพิ่มเส้นทางบินกันอย่างหนัก
สำหรับประเทศไทยนั้นพบว่าภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางซ้ำเข้าประเทศไทยดึง15.5% นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและยุโรปเติบโต 19% และ 9% ตามลำดับ
โดยทั้ง 2 ภูมิภาคนี้ยังคงเป็นตลาดหลักของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งครองสัดส่วนถึง 91% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย
จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าในไตรมาส 1/2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 9.04 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15% มาจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง
“AAV-BA” เร่งเพิ่มเส้นทางบิน
“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV และผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 1 ประจำปี 2559 ของ AAV มีรายได้รวม 8,952.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกำไรสุทธิ 1,009.1 ล้านบาท
โดยให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปแล้ว 4.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 88% จากฝูงบินแอร์บัส เอ 320 รวม 47 ลำ เมื่อสิ้นสุดไตรมาส
“ธรรศพลฐ์” บอกด้วยว่า ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยแอร์เอเชียได้เปิดตัวเส้นทางบินใหม่ไปแล้ว 10 เส้นทาง ได้แก่ จากกรุงเทพฯ สู่ซัวเถา, โกชิ, หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ จากภูเก็ตสู่อู่ฮั่น จากเชียงใหม่สู่ฉางซา และขอนแก่น จากหาดใหญ่สู่เชียงราย, ขอนแก่น และยะโฮร์บาห์รูและเปิดบินตรงเชื่อมไทยสู่ลาวได้เป็นครั้งแรก ที่ 2 เมืองยุทธศาสตร์ทั้งหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ทำให้มีเส้นทางบินครอบคลุมทุกประเทศใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ถือเป็นประเทศการลงทุนและการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
ด้านบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไตรมาสแรกมีรายได้รวม 7,775.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 และมีกำไรสุทธิ 1,574.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจสายการบินถึง 12.4% ด้วยอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 74.4% และการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน 10% (ไม่รวมรายได้จากธุรกิจให้บริการคลังสินค้า)
ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจสายการบินเป็นผลจากจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้น และราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของบริษัทปรับตัวลดลง
ส่วนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2559 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า การปรับเที่ยวบินและใช้เครื่องบินให้เหมาะสมกับความต้องการเดินทาง การใช้ประโยชน์ของเครื่องบินได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็น 11.5 ชั่วโมง จาก 10.7 ชั่วโมง ทำให้บริษัทและบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (ASK) ลดลงเพียง 1.8% โดยมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 0.9% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) เฉลี่ย 77.5% สูงกว่าปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยที่ 75.4% และมีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 5.92 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 5.3%
บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 50,183 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,384 ล้านบาท หรือลดลง 2.7% เนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินลดลงจากการปรับอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันลดลง และการแข่งขันที่รุนแรง ถึงแม้จะมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งเพิ่มขึ้น 5.3% สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 43,003 ล้านบาท ลดลง 4,149 ล้านบาท หรือ 8.8% เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินลดลง 3,637 ล้านบาท หรือ 25.1% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยลดลง 37.6% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันลดลง 524 ล้านบาท หรือ 1.7%
บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน 7,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,765 ล้านบาท หรือคิดเป็น 62.6% อย่างไรก็ตามมีค่าใช้จ่ายจากการประมาณการค่าซ่อมแซมเครื่องบินเช่าดำเนินงานตามสภาพการบินและเงื่อนไขการบำรุงรักษาเครื่องบินจำนวน 1,153 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินและเครื่องบิน 174 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 681 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 6,011 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 5,999 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.75 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.67 บาท หรือคิดเป็น 32.2%
โรงแรมยิ้ม “อัตราเข้าพัก” พุ่ง
ฟากธุรกิจโรงแรม “สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL บอกว่า ผลการดำเนินงานของ CENTEL ในไตรมาส 1/2559 มีรายได้รวม 5,305.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 161.9 ล้านบาท หรือ 3.1%
โดยเป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรม 2,802.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% และรายได้จากธุรกิจอาหาร 2,503.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานเท่ากับ 757.7 ล้านบาท ลดลง 9.1% จากไตรมาส 1/2558 เนื่องจากการลดลงของการขาดทุนสะสมทางภาษี
“โรงแรมในเครือมีอัตราการเข้าพัก 87.1% เพิ่มขึ้น 1.8% จุด โดยโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ในกรุงเทพฯ ทั้ง 2 แห่ง มีผลการดำเนินงานที่ดี ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 26% ของรายได้จากธุรกิจโรงแรมเช่นเดียวกันกับปีที่ผ่านมา”
ส่วนโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บีช รีสอร์ท วิลล่า กระบี่ และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บีช รีสอร์ท สมุย มีการเติบโตของยอดขายมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2558
ขณะที่โรงแรมทั้ง 2 แห่งในมัลดีฟส์ ยังสามารถสร้างรายได้เป็นสัดส่วน 21% ของรายได้จากธุรกิจโรงแรม
เช่นเดียวกับบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มีรายได้จากการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/2559 ที่ 1,536 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นรายได้หลักอยู่ที่ 1,485 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6% และมีกำไรสุทธิที่ 191 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37%
โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 83% (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มี 77%) จากจำนวนโรงแรม ณ สิ้นไตรมาสทั้งหมด 35 แห่ง รวม 5,834 ห้องพัก
ขณะที่กลุ่มบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวมในช่วงไตรมาส 1/2559 ที่ 15,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% โดยในส่วนธุรกิจโรงแรมและอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องมีรายได้รวม 9,040 ล้านบาท เติบโตขึ้น 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
และมีกำไรสุทธิที่ 3,575 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 66%
จากทิศทางดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปี 2559 ได้อย่างชัดเจน
updated: 20 พ.ค. 2559 เวลา 21:00:39 น.