กางโรดแมป พัฒนาสนามบินหาดใหญ่ เกตเวย์สู่ภาคใต้สุดของไทย
ในจำนวนท่าอากาศยาน ทั้ง 6 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. แม้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ จะมีการเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศ อยู่ในอันดับที่ 5 แต่ท่าอากาศยานแห่งนี้ก็มีความสำคัญ เพราะสนามบินเป็นกลไกหลักที่มีบทบาทในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคการขนส่ง การท่องเที่ยว และภาคการบริการของประเทศไทย ทั้งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555-2558) สนามบินแห่งนี้มีการเติบโตของเที่ยวบินเฉลี่ย 15.1% ต่อปี มีผู้โดยสารเติบโตเฉลี่ย 18.1% ต่อปี และสร้างรายได้ พบว่าในปีงบประมาณ 2558 มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 411.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.73% ดังนั้นแผนในการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคของทอท. เพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องวางแผนในการขยายศักยภาพของสนามบินแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
โฟกัสยุทธศาสตร์ประตูสู่ภาคใต้
ต่อเรื่องนี้นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท.กล่าวว่า ทอท.ได้กำหนดกำหนดบทบาททางยุทธศาสตร์ (Strategic Positioning) ให้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ เป็น “Gateway to Southern-most Thailand” หรือ “ประตูสู่ภาคใต้สุดของไทย” เพื่อเป็นจุดเชื่อมหลักสู่ 5 จังหวัดใต้สุดของไทย ได้แก่ สงขลา สตูล นราธิวาส ยะลา และปัตตานี รวมถึงประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้โดยสารชาวมุสลิม และยังเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภาคใต้ โดยปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการ (ตารางประกอบ) และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถขยายเป็นศูนย์กลางการบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำได้ ซึ่งขณะนี้มีบางสายการบินมีแผนการบินเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักของประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย กับประเทศในภูมิภาคอาเซียนทางตอนเหนือของไทย
นี่เองจึงทำให้ทอท.มองการบริหารจัดการท่าอากาศยานหาดใหญ่ แยกออกเป็น 3 เรื่องหลัก เรื่องแรก คือการสร้างรายได้เพิ่ม ด้วยการจัดทำโครงการส่งเสริมการตลาดด้านการบินระหว่างประเทศ จนถึงเดือนมีนาคม 2562 จะให้อินเซนทีฟลดค่าแลนด์ดิ้ง ปาร์กกิ้ง สูงสุด 99% และให้การสนับสนุนเป็นเงินโบนัสตามจำนวนผู้โดยสาร และเงินสนับสนุนค่าการตลาดเส้นทางบินใหม่สูงสุดถึงปีละ 1 ล้านบาท เพื่อดึงดูดสายการบินให้เข้ามาเปิดเที่ยวบินทั้งในแบบประจำ (Scheduled Flight) และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Chartered Flight) เข้ามาใช้บริการสนามบินหาดใหญ่
เรื่องที่ 2 คือ การอำนวยความสะดวกและการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรการ
การรักษาความปลอดภัย ถือปฏิบัติระดับ 3 อย่างต่อเนื่อง และเรื่องสุดท้าย คือการพัฒนาท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันสนามบินมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 2.5 ล้านคนต่อปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีจำนวนผู้โดยสารรวม 3.57 ล้านคน ถือว่าเกินขีดความสามารถในการรองรับ ทำให้เกิดความแออัดในการให้บริการ รวมทั้ง ทอท.ได้พยากรณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศในอนาคต โดยคาดว่าในปี 2562 สนามบินจะมีปริมาณผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน มีเที่ยวบิน 3.10 หมื่นเที่ยวบิน ในปี 2567 คาดว่าสนามบินจะมีปริมาณผู้โดยสาร 5.90 ล้านคน และมีเที่ยวบิน 4.13 หมื่นเที่ยวบิน และปี 2577 จะมีปริมาณผู้โดยสาร 9.1 ล้านคน และมีปริมาณเที่ยวบิน 6.40 หมื่นเที่ยวบิน
วางแผนลงทุน 2 เฟสรองรับ 10 ล้านคน
จากการเติบโตที่เกิดขึ้น ทำให้ทอท.วางแผนการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในช่วงปี 2558-2561 จะมุ่งบรรเทาความแออัดในการให้บริการและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ประกอบด้วย การปรับปรุงห้องโถงผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ การปรับปรุงห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า และปรับปรุงชานชลาจอดรถรับส่งผู้โดยสาร พร้อมติดตั้งหลังคาคลุมทางเดินหน้าอาคารผู้โดยสาร การขยายพื้นที่ และเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร โดยเพิ่มเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารฝั่งตะวันออก 8 เคาน์เตอร์ และฝั่งตะวันตกอีก 7 เคาน์เตอร์ พร้อมปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงสัมภาระ
รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารสำนักงานท่าอากาศยานหาดใหญ่หลังใหม่ การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเพื่อลดความแออัดในการให้บริการ การก่อสร้างขยายลานจอดรถยนต์ และการปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานให้สามารถจอดอากาศยานเพิ่มได้จาก 7 หลุมจอดเป็น 9 หลุมจอด
ขณะเดียวกันทอท. ยังอยู่ระหว่างวางแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ระยะยาว ในช่วงปี 2562-2571 ที่เตรียมจะเสนอบอร์ดทอท.พิจารณา ซึ่งวางแผนแนวทางการพัฒนาที่จะเน้นการปรับปรุงพื้นที่อาคารภายในและขยายหลุมจอดอากาศยาน และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปีจนถึง ปี 2578 ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารพื้นที่บริการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอุปกรณ์ภาคพื้น การขยายลานจอดรถยนต์ของอาคารผู้โดยสาร การก่อสร้างอาคารคลังสินค้า อาคารบำรุงรักษา อาคารพิธีฮัจญ์ โรงผลิตน้ำประปาทดแทนของเดิมที่จะนำพื้นที่ไปก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร การก่อสร้างลานจอดอากาศยานเพิ่มเติม การรื้อถอนอาคารผู้โดยสารหลังเดิมเพื่อปรับปรุงระบบทางขับ และลานจอดอากาศยาน และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ทดแทน การปรับปรุงระบบถนนภายใน การก่อสร้างบ้านพักของพนักงานทดแทน
ชี้ปีนี้ผู้โดยสารยังโตต่อเนื่อง
ด้านน.ท. ฤทธิรงค์ ก้อนมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานหาดใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินหาดใหญ่ แบ่งตามสัญชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน และญี่ปุ่น และยังพบว่าปริมาณการจราจรทางอากาศช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 (เดือนตุลาคม 2558 – มีนาคม 2559) มีผู้โดยสารใช้บริการ 1.85 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.88% มีเที่ยวบิน 1.25 หมื่นเที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 3.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากโครงการส่งเสริมการเพิ่มเครือข่ายการบินภายในประเทศ ณ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ สายการบินไทยแอร์เอเชียได้เข้าร่วมโครงการ โดยจะเพิ่มเส้นทางบินภายในประเทศอีก 1 จุดบิน คือ เส้นทางขอนแก่น – หาดใหญ่ โดยมีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ FD 3501 เมื่อที่ 28 เมษายน 2559
อีกทั้งสนามบินหาดใหญ่ ตั้งอยู่ในภาคใต้ ซึ่งประชากรภาคใต้ 70% เป็นชาวมุสลิม ดังนั้นทางสนามบินจึงได้มีการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารชาวมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประจำทุกปี โดยได้ร่วมกับหน่วยงานและส่วนงานราชการต่างๆ อำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน โดยได้เปิดอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสารห่างประมาณ 300 เมตร รวมทั้งดำเนินการด้านผู้โดยสาร X-RAY และชั่งน้ำหนักกระเป๋าสัมภาระบรรทุก และพิธีอำนวยพรผู้เดินทาง การจัดเส้นทางจราจร ซึ่งจะแยกออกจากเส้นทางผู้โดยสารปกติ และจัดทำป้ายบอกเส้นทาง พร้อมเจ้าหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกประจำจุดทุกเส้นทาง ก่อนเข้า – ออกสนามบิน ตลอดจนจัดพื้นที่จอดรถบริเวณสนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ สำหรับญาติที่มารอรับ – ส่ง ติดตั้งเต็นท์ที่พักผู้โดยสาร/ญาติ เต็นท์ละหมาดชาย – หญิง และจัดแพทย์ให้บริการด้านสุขภาพทั้งในอาคารอเนกประสงค์ และอาคารผู้โดยสาร พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อรองรับผู้โดยสารในช่วงดังกล่าวที่มากเป็นพิเศษด้วย
นอกจากนี้ในแง่ของการดูแลสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม สนามบินหาดใหญ่ ยังได้เข้าร่วมโครงการ Airport Carbon Accreditation ที่จัดขึ้นโดย Airports Council International Europe (ACI Europe) โดย ท่าอากาศยานหาดใหญ่ได้จัดทำ Carbon footprint report ประจำปี 2556 และประสบความสำเร็จได้รับการรับรองในระดับที่ 1 “Mapping” เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2557 หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ได้รับการรับรองในระดับที่ 2 “Reduction” โดยการจัดทำแผนบริหารจัดการคาร์บอนที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายและแนวทางในการลดการปล่อย Emission รวมไปถึงเน้นจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างท่าอากาศยานและชุมชนด้วย
ทั้งหมดล้วนเป็นภาพรวมและทิศทางการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
http://www.thansettakij.com/2016/05/03/48962