ผลักดัน โลคัล ทัวริซึมบูมเที่ยวในประเทศ
ในด้านการผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น “โลคัล ทัวริซึม” ถือเป็นโจทย์หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ(โลคัล อีโคโนมี)ตามนโยบายของ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ต้องการให้ททท.กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ไปพร้อมๆกับการสร้างโอกาสในการขายสินค้าโอท็อป จึงเป็นที่มาของการเปิดตัว Roadside Station หรือสถานีริมทาง ภายในปั้มน้ำมันปตท. 148 แห่งจากจำนวนปั้มน้ำมันปตท.ทั้งหมดนับพันๆ แห่ง ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนงบกลางให้ 148 ล้านบาท (การลงทุนเฉลี่ยแห่งละ 1 ล้านบาท) ในการดำเนินการ
สถานีริมทางที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น คล้ายแนวคิดของประเทศญี่ปุ่น ที่จะมีจุดแวะพักริมทาง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ท้องถิ่นนำสินค้าโอท็อปรวมถึงการขายสินค้าเกษตรตามฤดูกาล จากพื้นที่เข้ามาวางขายให้นักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยลดผลกระทบเรื่องของภัยแล้งที่จะยังคงเป็นปัญหาในภาคเกษตรของไทยในปี 2559
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า แผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของททท.ในปี 2559 นอกจากจะโฟกัสการขยายฐานรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และขยายฐานลูกค้าเจาะเซ็กเมนต์กลุ่มลักชัวรี ให้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องมองการวางรากฐานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาวด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนภาคการส่งออก ที่เมื่อมีปัจจัยลบภายนอกประเทศเกิดขึ้น ก็จะกระทบต่อภาคธุรกิจในไทย รวมถึงการรับมือกับการแข่งขันในภูมิภาคเอเชีย ที่ต่างให้ความสำคัญในการโปรโมตการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เขาจึงมองการกระจายความเสี่ยง ด้วยการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น
นี่เองจึงทำให้ผู้ว่าการททท.มีนโยบายชัดเจนว่า จะต้องปลดล็อกปัญหาในการขยายโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการลดความไม่สมดุลในเรื่องของเวลาและเมืองท่องเที่ยว โดยการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในวันธรรมดาเพิ่มขึ้น ผ่านความร่วมมือกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระตุ้นให้เกิดการเดินทางทั้งแบบค้างคืน
รวมถึงการกระจายการท่องเที่ยวออกสู่เมืองอื่นๆ ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่เฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ ที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้การเสนอขายสินค้าทางการท่องเที่ยวในปี 2559 จึงมีการขยายผลโครงการ 12 เมืองต้องห้าม…พลาด ต่อยอดมาเป็น “12 เมืองต้องห้าม…พลาด พลัส” โดยเพิ่มการเชื่อมโยงจาก 12 เมืองรองเดิม ทำให้มีการสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆกว่า 24 เมือง และเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวในโครงการ “เขาเล่าว่า” ซึ่งเป็นการสร้างเรื่องราวจากความเชื่อให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อสร้างกระแสให้คนไทยเที่ยวในประเทศ โดยนำเสนอการเก็บเกี่ยวเรื่องเล่าจากทั่วเมืองไทยมาเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งหมด 22 เดสติเนชันครอบคลุมทั่วทุกภาคของไทย การส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวด้วยจักรยาน ซึ่งปัจจุบันมีนักปั่นเพื่อการท่องเที่ยวร่วม 4 แสนคน สร้างรายได้ท่องเที่ยวด้วยจักรยาน 1.35 พันล้านบาท
ทั้งผู้ว่าการททท.ยังทยอยหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆถึงการร่วมมือด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน เพราะในขณะนี้จะเห็นว่าในหลายจังหวัดหันมาให้ผลักดันกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวกันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ให้สอดคล้องกับแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของททท.ในปีงบประมาณ2559
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 – 2 มกราคม พ.ศ. 2559