ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โอกาสทองของไทย
โดย ดร.พิชัย ชลวิหารพันธ์, ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย
จากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อสาธารณชนเมื่อขึ้นเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ 1 ใน 11 นโยบายที่สำคัญ คือ “เรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” เพราะประเทศไทยนั้นหากจะพูดถึงความสามารถในการแข่งขันแล้ว ไทยยังคงต้องเร่งพัฒนาหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้เพิ่มขึ้นได้
และยิ่งจากผลการประเมินของ สถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน IMD และ WEF พบว่าประเทศไทยยังขาดความสามารถในการแข่งขันอย่างมาก และต้องการการพัฒนาขีดความสามารถในอีกหลายมิติ
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญในการผลักดันมาตรการและงบประมาณในการที่จะนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรม (Science Based) ไปสู่ภาคการผลิต หรือห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ นอกจากการสร้างคุณค่า, มูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าหรือบริการแล้ว ก็ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการเจริญเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน อันจะเป็นกลไกที่สําคัญในการขับเคลื่อนให้ไทยสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พัฒนาอย่างยั่งยืน หลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้
การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคธุรกิจ การวิจัยและพัฒนา ความพร้อมด้านสาธารณสุขและการศึกษา และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นับเป็นอุตสาหกรรมหลักและมีความสำคัญที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาลในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ตัดสินใจเดินทางเที่ยว
พักผ่อนในเมืองไทย ซึ่งหนึ่งในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่มีการพูดถึงกันมากในการเพิ่มขีดความสามารถ คือการเป็น “ฮับ” ทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/การแพทย์ (Medical Hub) หรือศูนย์กลางการแพทย์ ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Health Tourism) จึงนับเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจในการเพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นให้กับประเทศไทย ที่น่าจับตามองแขนงหนึ่ง
หากพิจารณาตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/การแพทย์พบว่า งานวิจัยของ Medical Tourism Survey 2013 และ CBI Trade Stat for Tourism 2015 ระบุว่า “สหราชอาณาจักร” เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ/การแพทย์ ที่มีการเดินทางไปในประเทศต่าง ๆ อย่างมาก เช่น ในทวีปยุโรปเอง และในประเทศกำลังพัฒนา นอกเหนือจากนี้กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ตามมาประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้จ่ายระดับรองลงมา ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี สแกนดิเนเวีย และเนเธอร์แลนด์
ในปี ค.ศ. 2010 ผลการสำรวจดังกล่าว เปิดเผยว่า มีจำนวนประชากรจากสหราชอาณาจักร 63,000 คน ท่องเที่ยวในต่างประเทศเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพ ในทางกลับกันชาวต่างชาติจากประเทศอื่น ๆ จำนวน 52,000 คน ก็เดินทางมาดูแลรักษาสุขภาพในประเทศสหราชอาณาจักร
จากแบบสำรวจสุขภาพแห่งชาติ ของสหราชอาณาจักร (National Health Survey) ได้ประมาณค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่มาเพื่อดูแลรักษาสุขภาพทั้งหมด พบว่าเงินจำนวน 219 ล้านปอนด์ใช้ในการรักษาพยาบาล ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรมีการขยายตัวในแต่ละปี
อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากรายละเอียดของแผนปฏิรูปของสหราชอาณาจักร ยังคงมีความต้องการให้เพิ่มเติม “กิจกรรมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของภาคเอกชน” เพิ่มขึ้นอีกเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/การแพทย์ประกอบด้วย 1.ประเทศหรือจุดหมายปลายทางไม่ควรไกลจากประเทศลูกค้ามากเกินไป 2.งบประมาณการรักษาที่ไม่แพงจนเกินไป 3.ประเทศที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพควรวางตำแหน่งให้ได้ว่าประเทศตัวเอง “เป็นศูนย์กลาง” ที่สามารถติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ได้สะดวก และ 4.การสื่อสารที่ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับชาวต่างชาติ เช่น บุคลากรสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวยุโรป ที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/การแพทย์ ชอบเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวแถบโซนยุโรปกลาง และโซนยุโรปใต้ เช่น ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ ตุรกี และสเปน รวมทั้งในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย
ข้อมูลจาก Travel Tourism Magazine 2014 ยังพบอีกว่า สถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ถึง 5 ในการใช้เวลาพักผ่อนนาน ๆ ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย ประเทศไทย บราซิล และสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/การแพทย์ ที่จำเป็น เช่น การทำให้ผิวหนังสดใสและเต่งตึง การรักษาสิวฝ้า การสักที่ผิวหนัง การขูดเปลือกตา การบำรุงรักษาเส้นเลือด (Vari-cose Viens Treatment) การใส่ฟัน การศัลยกรรมเอว เข่า และการใส่/เปลี่ยน ผ่าตัดหน้าอก
โดย MIT และ Gulf Business จัดลำดับประเทศที่ดีที่สุดในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ 10 ลำดับแรก ได้แก่ แคนาดา สหราชอาณาจักร อิสราเอล สิงคโปร์ คอสตาริกา อิตาลี เยอรมนี ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ส่วนประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 20
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถที่จะเป็นพันธมิตรกับประเทศที่มีควาทเข้มแข็งด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/การแพทย์ อย่างเช่น ประเทศสหราชอาณาจักร แคนาดา หรืออื่น ๆ (โดยประสานกับทางกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมสาธารณสุข/ท่องเที่ยว โรงพยาบาล และการท่องเที่ยวส่วนท้องถิ่น) เพื่อให้เกิดการลงทุนร่วมกัน หรืออาจลงทุนในประเทศเหล่านี้โดยตรง โดยมุ่งเน้นการคิดไปข้างหน้าเกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนของอาคารสถานที่, อุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยี การกำหนดยุทธศาสตร์ และการทำให้สินค้าและบริการแตกต่างจากคู่แข่งขันสำหรับทางการแพทย์ เพื่อเป็นการเพิ่มระดับและขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/การแพทย์ในประเทศไทย
นักธุรกิจไทยไม่ควรมุ่งเน้นเรื่องการขายการท่องเที่ยวในราคาที่ต่ำ แต่ควรเน้นขายที่คุณภาพ และควรพัฒนารูปแบบที่โดดเด่นสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุภาพ
ที่สำคัญควรให้ความสำคัญกับการทำ กิจกรรมทางการตลาด ซึ่งต้องทำในลักษณะที่เน้นเรื่องของการตลาดคุณภาพ การมีข้อมูลสื่อสารที่ชัดเจน และความโปร่งใสผ่านทางเว็บไซต์ รูปถ่าย วิดีโอ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวหรือผู้เข้ารับการบริการ ควรที่จะสามารถได้รับข้อมูลเรื่องต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่ถูกต้อง และควรมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่สนุกสนานในระหว่างการพักอาศัยที่ประเทศไทย โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน พบว่าการขายรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นราคาไม่สูงมาก จะไม่สามารถนำชื่อเสียงที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่ประเทศได้
ทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่า “ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/การแพทย์” นับเป็นโอกาสทองของนักธุรกิจไทยที่สนใจจะบุกตลาดด้านนี้ในขณะนี้ และสามารถเพิ่มระดับและขีดความสามารถของด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/การแพทย์ของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้อย่างยั่งยืน
ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์